เมนู

บทภาชนีย์


ติกปาจิตตีย์


[608] มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี
ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่มีปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟเว้นไว้
แต่มีปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่าผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี
ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่มีปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ติกทุกกฏ


ภิกษุยกฟืนที่ติดไฟไว้ในที่เดิม ต้องอาบัติทุกกฏ.
ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ...ต้องอาบัติทุกกฏ.
ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่ต้องอาบัติ


ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่าผู้อาพาธ...ไม่ต้องอาบัติ.

อนาปัตติวาร


[609] ภิกษุอาพาธ 1 ภิกษุผิงไฟที่ผู้อื่นติดไว้ 1 ภิกษุผิงถ่านไฟที่
ปราศจากเปลว 1 ภิกษุตามประทีปก็ดี ก่อไฟใช้อย่างอื่นก็ดี ติดไฟในเรือนไฟ
ก็ดี เพราะมีเหตุเห็นปานนั้น 1 มีอันตราย 1 ภิกษุวิกลจริต 1 ภิกษุอาทิ-
กัมมิกะ 1 ไม่ต้องอาบัติแล.
สุราปานวรรค สิกขาบทที่ 6 จบ

โชตสมาทหนสิกขาบทที่ 6


ในสิกขาบทที่ 6 มีวินิจฉัยดังนี้:-

[ แก้อรรถบางปาฐะเกี่ยวกับ การจุดไฟผิง]


คำว่า ภัคคะ นี้ เป็นชื่อของชนบท. คำว่า สุงสุมารคีระ เป็นชื่อ
ของเมือง. คำว่า เภสกลาวัน เป็นชื่อแห่งป่าที่อาศัยเมืองนั้น (วนอุทยาน
ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองนั้น). ก็ป่านั้นเรียกว่า มฤคทายะ เพราะเป็นที่พระราชทาน
อภัยแก่พวกเนื้อ เพื่อต้องการให้อยู่สบาย.
บทว่า สมาทหิตฺวา คือ ให้ลุกโพลงขึ้น.
บทว่า ปริปาเตสิ คือ ไล่ติดตามไป.
ในคำว่า สยํ สมาทหติ นี้ มีวินิจฉัยว่า เริ่มแต่จุดไม้สีไฟด้วย
ความประสงค์จะก่อไฟไป จนกระทั่งถึงเปลวไฟยังไม่ลุกขึ้น เป็นทุกกฏ ทุก ๆ
ประโยค.
บทว่า ปทีเปปิ คือ ในการตามประทีปก็ดี.
บทว่า โชติเกปิ ได้แก่ การก่อไฟในกิจมีการระบมบาตร และอบตัว
เป็นต้นก็ดี.
บทว่า ตถารูปปจฺจยา คือ มีการตามประทีปเป็นต้นเป็นปัจจัย.
สองบทว่า ปฏิลาตํ อุกฺขิปติ มีความว่า ภิกษุยกดุ้นฟืนที่กำลัง
ติดไฟ ซึ่งตกลงไปขึ้นมา อธิบายว่า ยกวางไว้ในที่เดิมอีก เมื่อภิกษุหยิบ
ดุ้นฟืนที่ไฟยังไม่ดับอย่างนี้ ใส่ลงไปเท่านั้น เป็นทุกกฏ แต่เป็นปาจิตตีย์แท้
แก่ภิกษุผู้ก่อไฟฟืนที่ไฟดับแล้วให้ลุกอีก.