เมนู

เรื่องอุบาสิกา


[299] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกอุบาสิกาพบภิกษุทั้งหลาย แล้วได้
กล่าวนิมนต์ว่า ข้าแด่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนาพระคุณเจ้าแสดงธรรม.
ภิกษุเหล่านั้นตอบปฏิเสธว่า ดูก่อนน้องหญิง การแสดงธรรมแก่
มาตุคามไม่ควร.
พวกอุบาสิกาอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนา .
แสดงธรรมเพียง 5-6 คำ พวกข้าพเจ้าก็สามารถจะรู้ทั่วถึงธรรม แม้ด้วย
ถ้อยคำเพียงเท่านี้.
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูก่อนน้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคาม
ไม่ควร ดังนี้แล้ว รังเกียจ ไม่แสดงธรรม.
พวกอุบาสิกาต่างพากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้า
ทั้งหลาย อันเราอาราธนาอยู่ จึงไม่แสดงธรรมเล่า.
ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสิกาพวกนั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ จึง
กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุ
เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่มาตุคามได้เพียง 5-6 คำ ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

พระอนุบัญญัติ


56. 7. ข. อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคาม ยิ่งกว่า
5-6 คำ เป็นปาจิตตีย์.

ก็สิกขาบทนี้ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ แก่ภิกษุ-
ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
เรื่องอุบาสิกา จบ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์


[300] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงอนุญาตให้แสดงธรรมแก่มาตุคามได้เพียง 5-6 คำ จึงให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสา
นั่งใกล้ ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน 5-6 คำ บรรดาภิกษุที่มักน้อย
สันโดษมีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้ว
แสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน 5-6 คำเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มี
พระภาคเจ้า.

ทรงสอบถาม


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า พวกเธอให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้ว แสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน
5-6 คำ จริงหรือ.
พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน
พวกเธอจึงได้ให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน
5-6 คำเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . .