เมนู

ภิ. อาวุโส เสยยสกะ คุณพยายามปล่อยอสุจิ ด้วยมือซึ่งเป็นเครื่อง
ฉันอาหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาเทียวหรือ
เส. เป็นอย่างนั้น ขอรับ
บรรดาภิกษุที่มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ
ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนท่านพระเสยยสกะ
จึงได้ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิเล่า ภิกษุเหล่านั้น พากันติเตียนท่านพระ-
เสยยสกะโดยอเนกปริยาย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะ
เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่าน
เสยยสกะว่า ดูก่อนเสยยสกะ ข่าวว่า เธอใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ
จริงหรือ
ท่านเสยยสกะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำ
ของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิเล่า
ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อ
คลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่
เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น มิใช่
หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด
เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจัก

คิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อ
มีความถือมั่น
ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อ
เป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นสร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่
บรรเทาความระหาย เพื่อเพิกถอนอาลัย เพื่อเข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อสิ้น
แห่งตัณหา เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความไม่มี
กิเลสเครื่องร้อยรัด มิใช่หรือ
ดูก่อนโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม
การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม
การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย
มิใช่หรือ
ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ
เลื่อมใสของชุมชนที่ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ
ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การการทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อ
ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่าง
อื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
(พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงติเตียนท่านพระเสยยสกะโดยอเนกปริยาย
ดังนี้แล้ว) ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก
ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความ
เกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย
ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่า

เลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย
ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่
ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบท
แก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ เพื่อความ
รับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อ
ยาก 1 เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก 1 เพื่อป้องกันอาสวะ
อันจะบังเกิดในปัจจุบัน 1 เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต 1
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 1 เพื่อความเลื่อมใสยิ่ง
ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว 1 เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม 1 เพื่อ
ถือตามพระวินัย 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
อย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ


5. 1. ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
เรื่องพระเสยยสกะ จบ

เรื่องภิกษุหลายรูป


[302] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนะอันประณีตแล้ว
จำวัดปล่อยสติไม่มีสัมปชัญญะ เมื่อเธอจำวัดปล่อยสติไม่มีสัมปชัญญะ อสุจิ