เมนู

วินีตวัตถุในตติยปาราชิก


[เรื่องพรรณนาคุณความตาย]


ในเรื่องแรก (ซึ่งมีอยู่) ในคาถาแห่งวินีตวัตถุทั้งหลาย มีวินิจฉัย
ดังต่อไปนี้:-
บทว่า การุญฺเญน ความว่า ภิกษุเหล่านั้น เห็นความทุกข์เพราะ
ความเป็นไข้อย่างมากของเธอแล้ว เกิดความกรุณาขึ้น ทั้งเป็นผู้มีความต้องการ
จะให้ตายด้วย แต่ไม่ทราบว่าเธอมีความต้องการจะตาย จึงได้พรรณนาคุณ
ความตายอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้มีศีล ได้ทำกุศลไว้แล้ว เพราะเหตุไร เมื่อจะ
ตายจึงกลัวเล่า ? ขึ้นชื่อว่า สวรรค์ของผู้มีศีล เป็นของเนื่องด้วยเหตุเพียง
ความตายเท่านั้น มิใช่หรือ ? ภิกษุแม้นั้นก็ตัดอาหาร เพราะการพรรณนา
(คุณความตาย) ของภิกษุเหล่านั้น แล้วก็มรณภาพไปในระหว่างนั้นเอง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงต้องอาบัติ. แต่ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้
ด้วยอำนาจโวหารว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้พรรณนาคุณความตายด้วยความกรุณา,
เพราะฉะนั้นถึงในบัดนี้ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ก็ไม่ควรพรรณนาคุณความตาย
อย่างนั้น แก่ภิกษุผู้อาพาธ. จริงอยู่ ถ้าภิกษุผู้อาพาธนั้นได้ฟังการพรรณนา
ของภิกษุนั้นแล้ว มรณภาพลงในระหว่าง ในเมื่ออายุแม้ยังเหลืออยู่ชั่วชวน-
วาระเดียว ด้วยความพยายามมีการอดอาหารเป็นต้น ไซร้, เธอเป็นผู้ชื่อว่าอัน
ภิกษุนี้แลฆ่าแล้ว. แต่ควรให้คำพร่ำสอนโดยนัยนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งมรรค
และผลของท่านผู้มีศีล เป็นของไม่น่าอัศจรรย์เลย; เพราะฉะนั้น ท่านไม่ควร
ทำความเกี่ยวข้องในสถานที่มีวิหารเป็นต้น ควรตั้งสติให้ไปในพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ และในกาย ทำความไม่ประมาทในมนสิการ. และแม้

เมื่อภิกษุพรรณนาคุณความตายแล้ว ภิกษุใดไม่ทำความพยายามอะไร ๆ เพราะ
การพรรณนานั้น มรณภาพไปตามธรรมดาของตนตามอายุ และตามความ
สืบต่อ (แห่งอายุ), ภิกษุผู้พรรณนา อันพระวินัยธรไม่ควรปรับอาบัติ เพราะ
ความตายของภิกษุนั้นเป็นปัจจัย ฉะนี้แล.

[เรื่องภิกษุนั่งทับเด็กตาย]


ในคำว่า น จ ภิกฺขเว อปฏิเวกฺขิตฺวา เป็นต้น (ซึ่งมีอยู่)
ในเรื่องที่ 2 มีวินิจฉัยดังนี้:-
ถามว่า อาสนะ เช่นไรต้องพิจารณา เช่นไรไม่ต้องพิจารณา ?
แก้ว่า อาสนะล้วน ๆ ไม่มีเครื่องปูลาดข้างบน และอาสนะที่เขาปูลาด
ต่อหน้าพวกภิกษุผู้มายืนดูอยู่ ไม่ต้องพิจารณา, ควรนั่งได้. แม้บนอาสนะที่
ชาวบ้านเขาเอามือปรบ ๆ เองแล้วถวายว่า ขอนิมนต์นั่งบนอาสนะนี้เถิด ขอรับ !
ดังนี้ ก็ควรนั่งได้. ถ้าแม้นว่า ภิกษุหลายรูปมานั่งอยู่ก่อนแล้วแล. ภายหลัง
จึงขยับขึ้นไปข้างบนหรือถอยร่นลงมาข้างล่าง, ไม่มีกิจที่จะต้องพิจารณา. แม้
บนอาสนะที่เขาเอาผ้าบาง ๆ คลุมไว้ให้มองเห็นพื้น (อาสนะ) ได้ ไม่มีกิจที่
จะต้องพิจารณา. ส่วนอาสนะใด ซึ่งเป็นของที่เขาเอาผ้าปาวารและผ้าโกเชาว์
เป็นต้น ปูลาดไว้ก่อนทีเดียว, ภิกษุควรเอามือลูบคลำกำหนดดูอาสนะนั้นเสีย
ก่อนจึงนั่ง. แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ในอาสนะใด แม้ที่เขาเอาผ้า
สาฎกที่หนาปูลาดไว้ รอยย่นย่อมไม่ปรากฏ, อาสนะนั้น ไม่ต้องพิจารณา.

[เรื่องภิกษุทำสากล้มฟาดถูกเด็กตาย]


ในเรื่องสาก มีวินิจฉัยดังนี้:- บทว่า อสญฺจิจฺโจ ได้แก่ ผู้ไม่มี
เจตนาจะฆ่า. จริงอยู่ ภิกษุนั้นมีความประกอบผิดพลาดไป; เพราะฉะนั้น เธอ
จึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้แกล้ง เรื่องครกมีเนื้อความชัดเจนแล้วแล.