เมนู

เรื่องให้ดื่มดองโลณะโสจิรกะ


ก็โดยสมัยนั้นแล บุรุษคนหนึ่งมีมือและเท้าด้วน หมู่ญาติเลี้ยงดูไว้
ในเรือนญาติ ภิกษุณีรูปหนึ่งได้พูดกะคนพวกนั้นว่า ท่านทั้งหลายปรารถนา
ให้บุรุษนี้ตายหรือไม่.
ญ. ปรารถนาเจ้าข้า
ภิ. ถ้าเช่นนั้น จงให้เขาดื่มยาดองชื่อโลณะโสจิรกะ.
คนพวกนั้นได้ให้บุรุษนั้นดื่มยาดองโลณะโสจิรกะ บุรุษนั้นได้ตายแล้ว
ภิกษุณีนั้นมีความรังเกียจ จึงได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ๆ ได้แจ้งเรื่อง
นั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ๆ ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีนั้น ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว.
ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 จบ

ตติยปาราชิกวรรณนา


ตติยปาราชิกใด ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้
หมดจดทางไตรทวารทรงประกาศแล้ว, บัด
นี้ ถึงลำดับสังวรรณนา แห่งตติยปาราชิก
นั้นแล้ว; เพราะเหตุนั้นคำใดที่จะพึงรู้ได้ง่าย
และคำใดที่ข้าพเจ้าได้ประกาศไว้แล้วในก่อน
สังวรรณนานี้แม้แห่งตติยปาราชิกนั้น จะเว้น
คำนั้น ๆ เสียฉะนี้แล.

พระบาลีอุกเขปพจน์ว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เวสาลยํ
วิหรติ มหาวเน กูฏาคารสาลายํ
เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้:-

[อธิบายเรื่องเมืองไพศาลี ]


บทว่า เวสาลิยํ มีความว่า ใกล้นครที่มีชื่ออย่างนั้น คือมีโวหาร
เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งอิตถีลิงค์. จริงอยู่ นครนั้น เรียกว่า เวสาลี เพราะ
เป็นเมืองที่กว้างขวาง ด้วยขยายเครื่องล้อม คือกำแพงถึง 3 ครั้ง. ความ
สังเขปในตติยปาราชิกนี้ มีเท่านี้. ส่วนความพิสดารแห่งบทว่า เวสาลี นั้น
อันผู้ปรารถนาอนุบุพพิกถาพึงถือเอาจากวรรณนาแห่งรัตนสูตร ในอรรถกถา
แห่งขุททกปาฐะชื่อปรมัตถโชติกาเถิด. ก็แลนครแม้นี้ พึงทราบว่า เป็นเมือง
ถึงความไพบูลย์โดยอาการทั้งปวง ในเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุ
สัพพัญญุตญาณแล้ว เท่านั้น. ท่านพระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงโคจรคามอย่างนั้น
แล้ว จึงกล่าวที่เสด็จประทับไว้ว่า มหาวเน กูฏาคารสาลายํ (ที่กูฎาคาร
ศาลาในป่ามหาวัน).
บรรดาป่ามหาวันและกูฎาคารศาลานั้น ป่าใหญ่มีโอกาสเป็นที่กำหนด
เกิดเอง ไม่ได้ปลูก ชื่อว่าป่ามหาวัน. ส่วนป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เนื่อง
เป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์ ไม่มีโอกาสเป็นที่กำหนด ตั้งจดมหาสมุทร.
ป่ามหาวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คือเป็นป่าใหญ่ มีโอกาสเป็นที่กำหนด; เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่าป่ามหาวัน. ส่วนกูฎาคารศาลา อันถึงพร้อมด้วยอาการทั้งปวง
ซึ่งสร้างให้มีหลังคาคล้ายทรวดทรงแห่งหงส์ ทำเรือนยอดไว้ข้างใน ณ อาราม
ที่สร้างไว้อาศัยป่ามหาวัน พึงทราบว่า เป็นพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า.