เมนู

กถาว่าด้วยสัตว์มีชีวิต


ถัดจากกถาด่านภาษีนี้ไป พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสัตว์
ที่มีชีวิต ซึ่งพอควรแก่อวหารโดยส่วนเดียว จึงตรัสว่า มนุสฺสปาโณ เป็นต้น.
เมื่อภิกษุลักมนุษย์ผู้ยังมีชีวิตแม้นั้น ซึ่งเป็นไทไป ย่อมไม่เป็นอวหาร. แม้
มนุษย์ผู้เป็นไทคนใด ถูกมารดาหรือบิดาเอาไปจำนำไว้ หรือตัวเองเอาตัว
เป็นประกันไว้ แล้วได้ถือเอาทรัพย์ 50 หรือ 60 กหาปณะไป, เมื่อภิกษุลัก
เอามนุษย์ผู้เป็นไทแม้คนนั้นไป ก็ไม่เป็นอวหาร. ส่วนทรัพย์ย่อมเพิ่มดอกเบี้ย
ขึ้นในสถานที่เขาไป. แต่เมื่อภิกษุลักทาสนั่นแล ต่างโดยเป็นทาสที่เกิดใน
เรือนเบี้ย ทาสสินไถ่และทาสที่ถูกนำมาเป็นเชลย ย่อมเป็นอวหาร. จริงอยู่
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายเอาทาสผู้เกิดในเรือนเบี้ยเป็นต้น นั้นนั่นแล จึง
ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ที่ชื่อว่าสัตว์มีชีวิต เราเรียกคนยังมีชีวิต ดังนี้.

[

บุคคลผู้เป็นทาส 3 จำพวก

]
ก็บรรดาทาสเหล่านั้น ทาสที่เกิดในท้องของนางทาสี ในเรือนพึงทราบ
ว่า อันโตชาตกะ ทาสที่เกิดภายใน. ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ พึงทราบว่า
ธนักกีตกะ ทาสที่ไถ่มาด้วยทรัพย์, บุคคลที่ถูกกวาดต้อนมาจากต่างประเทศ
แล้วเข้าถึงความเป็นทาส พึงทราบว่า กรมรานีตะ ทาสที่ถูกนำมาเป็นเชลย.
ภิกษุคิดว่า เราจักลักมนุษย์ที่มีชีวิตเห็นปานนี้ไป แล้วลูบคลำ ต้องทุกกฏ.
เมื่อเธอจับที่มือ หรือเท้ายกขึ้น ทำให้ไหว ต้องถุลลัจจัย. เธอใคร่จะยกหนีไป
ให้ล่วงเลยจากสถานที่ ๆ ยืนอยู่ แม้เพียงปลายเส้นผมไป ต้องปาราชิก. เธอ
จับที่ผมหรือที่แขนทั้งสอง ฉุดคร่าไป พึงปรับตามย่างเท้า. ภิกษุคิดว่า เราจัก

พาเดินไป ขู่หรือตี พลางพูดว่า แกจงไปจากที่นี้. เมื่อเขาไปยังทิศาภาค
ตามที่ภิกษุนั้นสั่ง เธอต้องปาราชิกในย่างเท้าที่ 2. แม้ภิกษุเหล่าใด มีฉันทะ
ร่วมกับภิกษุนั้น เป็นปาราชิก ในขณะเดียวกันแก่ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด. ภิกษุ
เห็นทาสแล้ว ถามถึงสุขทุกข์ หรือไม่ถามก็ตาม พูดว่า แกจงไป จงหนีไป
อยู่เป็นสุขเถิด ถ้าทาสคนนั้นหนีไปไซร้ เธอต้องปาราชิกในย่างเท้าที่ 2.
ภิกษุรูปอื่น พูดกะทาสคนนั้น ผู้เข้ามาสู่สำนักของตนว่า แกจงหนีไป. ถ้าภิกษุ
ตั้งร้อยรูป พูดกะทาสผู้เข้ามาสู่สำนักของตน ๆ ตามลำดับ, ก็เป็นปาราชิก
ด้วยกันทั้งหมด. ส่วนภิกษุรูปใด พูดกะทาสผู้กำลังวิ่งหนีไปนั่นเองว่า แกจง
หนีไป ตลอดเวลาที่เจ้าของยังจับแกไม่ได้, เธอรูปนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิก.
แต่ถ้าเธอพูดกะทาสค่อย ๆ เดินไป, และทาสคนนั้นรีบจ้ำเดินไป ตามคำ
ของภิกษุนั้น, เป็นปาราชิก, เมื่อภิกษุเห็นทาส ผู้หนีไปยังบ้านหรือประเทศอื่น
แล้วไล่ให้หนีไป แม้จากที่นั้น เป็นปาราชิกเหมือนกัน. ชื่อว่า อทินนาทาน
ย่อมพ้นได้โดยปริยาย.
จริงอยู่ ภิกษุรูปใด พูดอย่างนี้ว่า เธอทำอะไรอยู่ในที่นี้ ? เธอหนีไป
ไม่ควรหรือ? ก็ดี ว่า การที่เธอไปในที่ไหน ๆ แล้ว มีชีวิตอยู่อย่างสบาย
ไม่ควรหรือ? ก็ดี ว่า พวกทาสและสาวใช้พากันหนีไปยังประเทศชื่อโน้นแล้ว
ย่อมเป็นอยู่อย่างสบาย ก็ดี, และเขาได้ฟังคำพูดของภิกษุนั้นแล้ว ก็หนีไป,
ย่อมไม่เป็นอวหาร. ฝ่ายภิกษุใด พูดว่า พวกอาตมา จะไปยังประเทศชื่อโน้น,
ผู้ไปในประเทศนั้นแล้ว ย่อมเป็นอยู่อย่างสบาย และเมื่อพวกท่านไปพร้อม
กับพวกอาตมา จะไม่มีความลำบาก ด้วยเสบียงทางเป็นต้น แม้ในระหว่างทาง
ดังนี้แล้ว พาเอาทาสผู้มาพร้อมกับตนไป, ภิกษุรูปนั้น ไม่ต้องปาราชิกด้วย

ไถยจิต ทั้งอวหารก็ไม่มีเลย เพราะอำนาจแห่งการเดินทาง และเมื่อมีพวก
โจรดักอยู่ในระหว่างทาง แม้เมื่อภิกษุกล่าวว่า เฮ้ย ! พวกโจรซุ่มดักแล้ว,
แกจงรีบหนีไป จงรีบมาไป ดังนี้ พระอาจารย์ทั้งหลาย ก็ไม่ปรับเป็นอวหาร
เพราะเธอกล่าวเพื่อต้องการให้พ้นจากอันตรายแต่โจร ด้วย ประการฉะนี้.
จบกถาว่าด้วยสัตว์มีชีวิต

กถาว่าด้วยสัตว์ไม่มีเท้า


บรรดาสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย ที่ชื่อว่างู มีเจ้าของ คือ งูที่พวกหมองู
เป็นต้นจับไว้ เมื่อให้เล่น ย่อมได้ค่าดูกึ่งบาทบ้าง บาทหนึ่งบ้าง กหาปณะหนึ่ง
บ้าง, แม้เมื่อจะปล่อยออก ก็รับเอาเงินและทองแล้วแลจึงปล่อยออก. เจ้าของงู
เหล่านั้น ไปยังโอกาสที่ภิกษุบางรูปนั่งแล้ววางกล่องงูไว้ นอนหลับไป หรือ
ไปในที่ไหน ๆ เสีย. ถ้าภิกษุนั้นจับกล่องนั้นในสถานที่นั้น ด้วยไถยจิต ต้อง
ทุกกฏ. ทำให้ไหวต้องถุลลัจจัย, ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องปาราชิก. แต่ถ้าเธอ
เปิดกล่องออกแล้วจับงูที่คอ ต้องทุกกฏ, ยกงูขึ้นต้องถุลลัจจัย, เมื่อเธอยกขึ้น
ให้ตรง ๆ พอเมื่อหางงูพ้นจากพื้นกล่องเพียงปลายเส้นผม ก็ต้องปาราชิก. เมื่อ
เธอดึงครูดออกไป พอหางงูพ้นจากขอบปาก (กล่อง) ไป ต้องปาราชิก.