เมนู

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในนา


พึงทราบวินิจฉัยแม้ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในนาต่อไป :- พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงนาก่อน จึงตรัสว่า ที่ซึ่งปุพพัณชาติ หรืออปรัณ-
ชาติเกิด ชื่อว่า นา. บรรดาปุพพัณชาติเป็นต้นนั้น ข้าวเปลือก 7 ชนิด
มีข้าวสาลีเป็นต้น ชื่อว่า ปุพพัณชาติ. พืชทั้งหลายมีถั่วเขียวและถั่วราชมาษ
เป็นต้น ชื่อว่า อปรัณชาติ. แม้ไร่อ้อยเป็นต้น ก็สงเคราะห์เข้าในบทว่า
อปรัณชาติ นี้เหมือนกัน. ภัณฑะที่เขาเก็บไว้โดยฐาน 4 แม้ในทรัพย์ที่ตั้ง
อยู่ในนานี้ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
ส่วนในภัณฑะที่เกิดขึ้นในนานั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :- เมื่อภิกษุแย่งชิง
เอาธัญชาติมีรวงข้าวสาลีเป็นต้นก็ดี ใช้มือนั่นเองเด็ดเอาหรือใช้เคียวเกี่ยวเอา
ทีละรวง ๆ ก็ดี หรือถอนรวมกันเอาทีละมาก ๆ ก็ดี วัตถุปาราชิก จะครบใน
เมล็ด ในรวง ในกำ หรือในผลมีถั่วเขียวและถั่วราชมาษเป็นต้นใด ๆ เมื่อ
เมล็ดเป็นต้นนั้น ๆ สักว่าเธอให้หลุดจากขั้ว เป็นปาราชิก. ส่วนลำต้นก็ดี
ใยก็ดี เปลือกก็ดี ที่ยังไม่ขาดแม้มีประมาณน้อย ก็ยังรักษาอยู่. ซังข้าวเปลือก
แม้เป็นของยาว, ลำต้นของรวงข้าวเปลือก ยังไม่หลุดออกจากซังข้าวภายใน
เพียงใด, ยังรักษาอยู่เพียงนั้น เมื่อพื้นเบื้องล่างของลำต้น หลุดออกจากซัง
ข้าวแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผม พระวินัยธรพึงปรับอาบัติด้วยอำนาจราคา
สิ่งของ. ก็เมื่อภิกษุใช้เคียวเกี่ยวถือเอา ครั้นเมื่อลำต้นข้าวอยู่ในกำมือ แม้
ขาดแล้วในตอนล่าง, ถ้ารวงทั้งหลายยังเกี่ยวประสานกันอยู่, ยังรักษาอยู่ก่อน.
แต่เมื่อเธอสางยกขึ้นแม้เพียงปลายเส้นผม, ถ้าวัตถุปาราชิกครบ เป็นปาราชิก.

ก็แล เมื่อภิกษุถือเอาข้าวเปลือกที่เจ้าของเกี่ยววางไว้พร้อมทั้งข้าวลีบ หรือทำ
ให้หมดข้าวลีบ, วัตถุปาราชิกจะครบด้วยรวงใด, ครั้นเมื่อรวงนั้นอันเธอถือ
เอาแล้ว เป็นปาราชิก. ถ้าเธอกำหนดหมายไว้ว่า เราจักนวดข้าวเปลือกนี้
แล้วจักฝัดถือเอาแต่เมล็ดข้าวเท่านั้น ดังนี้, ยังรักษาอยู่ก่อน. แม้เมื่อเธอให้
เคลื่อนจากฐาน ในเพราะการนวดและฝัด ยังไม่เป็นปาราชิก ภายหลัง เมื่อ
เธอสักว่าตักใส่ภาชนะ เป็นปาราชิก. ส่วนการตู่เอาในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในนานี้
มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
ในการปักหลักรุกล้ำเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :- ขึ้นชื่อว่าแผ่นดินเป็น
ของหาค่ามิได้ ; เพราะเหตุนั้น ถ้าว่าภิกษุทำประเทศแห่งแผ่นดิน แม้เพียง
ปลายเส้นผมให้เป็นของ ๆ ตน ด้วยหลักเพียงอันเดียวเท่านั้น พวกเจ้าของจะ
เห็นหรือไม่เห็นก็ตาม, ที่หลักนั้น จะจารึกชื่อหรือไม่จารึกก็ตาม พอเธอรุก
เสร็จ ก็เป็นปาราชิก แก่เธอด้วย แก่ภิกษุทั้งปวงผู้มีฉันทะร่วมกับเธอด้วย
แต่ถ้าที่นานั้น เป็นของที่จะพึงโกงเอาได้ ด้วยหลัก 2 อัน, เป็นถุลลัจจัยใน
หลักอันที่ 1, เป็นปาราชิกในหลักอันที่ 2. ถ้าเป็นของที่จะพึงโกงเอาได้ด้วย
หลัก 3 อัน เป็นทุกกฏในหลักอันที่ 1 เป็นถุลลัจจัยในหลักอันที่ 2 เป็น
ปาราชิกในหลักอันที่ 3. แม้ในหลักมากอัน ก็พึงทราบว่า เป็นทุกกฏด้วย
หลักต้น ๆ เว้นในที่สุดไว้ 2 หลัก เป็นถุลลัจจัยด้วยหลักอันหนึ่ง แห่งสอง
หลักในที่สุด, เป็นปาราชิกด้วยหลักอีกอันหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้. ก็ปาราชิก
นั้นแล ย่อมมีด้วยความทอดธุระของพวกเจ้าของ. ในการรุกทั้งปวงมีการรุกล้ำ
ด้วยเชือกเป็นต้น ก็อย่างนี้.
บทว่า รชฺชุํ วา มีความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจว่า
นานี้เป็นของเรา ขึงเชือกก็ตาม ทอดไม้เท้าลงก็ตาม ต้องทุกกฏ เมื่อเธอทำ

ในใจว่า บัดนี้เราจักทำให้เป็นของ ๆ ตน ด้วย 2 ประโยค เป็นถุลลัจจัย ใน
ประโยคที่หนึ่งแห่ง 2 ประโยคนั้น, เป็นปาราชิกในประโยคที่ 2.
บทว่า วติ วา มีความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะทำนาของผู้อื่นให้
เป็นของ ๆ ตน ด้วยอำนาจแห่งการล้อม จึงปักหลักกระทู้ลง ต้องทุกกฏทุก ๆ
ประโยค, เมื่อประโยคหนึ่งยังไม่สำเร็จ เป็นถุลลัจจัย เมื่อประโยคนั้นสำเร็จ
แล้ว เป็นปาราชิก. ถ้าเธอไม่อาจทำด้วยประโยคมีประมาณเท่านั้น แต่อาจ
ทำให้เป็นของ ๆ ตนได้ ด้วยล้อมไว้ด้วยกิ่งไม้เท้านั้น แม้ในการทอดกิ่งไม้ลง
ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ภิกษุอาจเพื่อจะล้อมด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เป็น
ของ ๆ ตนได้ ด้วยประการอย่างนี้, ในวัตถุนั้น ๆ พึงทราบว่า เป็นทุกกฏ
ด้วยประโยคต้น ๆ, เป็นถุลลัจจัยด้วยประโยคอันหนึ่ง แห่งสองประโยคใน
ที่สุด, เป็นปาราชิกด้วยประโยคนอกจากนี้.
บทว่า ปริยาทํ วา มีความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจ
นาของผู้อื่นว่า นี้เป็นนาของเรา จึงรุกคันนาของตนเข้าไป โดยประการที่
แนวนา (ของตน) จะล้ำนาของผู้อื่น หรือเอาดินร่วนและดินเหนียวเป็นต้น
เสริมทำให้กว้างออกไป หรือว่าตั้งคันนาที่ยังไม่ได้ทำขึ้น ต้องทุกกฏในประโยค
ต้น ๆ, เป็นถุลลัจจัยด้วยประโยคอันหนึ่ง แห่งสองประโยคหลัง, เป็นปาราชิก
ด้วยประโยคนอกจากนี้ ฉะนี้แล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในนา

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่


พึงทราบวินิจฉัยแม้ในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อไป :- พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพื้นที่ก่อน จึงตรัสว่า วตฺถุ นาม อารามวตฺถุ
วิหารวตฺถุ
( ที่ชื่อว่าพื้นที่ ได้แก่พื้นที่สวน พื้นที่วิหาร ) ดังนี้. บรรดา
พื้นที่สวนเป็นต้นนั้น ภูมิภาคที่เขามิได้ปลูกพืช หรือต้นไม้ที่ควรปลูกไว้เลย
แผ้วถางพื้นดินไว้อย่างเดียว หรือล้อมด้วยกำแพง 3 ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง
เพื่อประโยชน์แก่สวนดอกไม้เป็นต้น ชื่อว่า อารามวัตถุ. ภูมิภาคที่เขาตั้งไว้
เพื่อประโยชน์แก่วิหารบริเวณ และอาวาสหนึ่ง ๆ โดยนัยนั้นนั่นเอง ชื่อว่า
วิหารวัตถุ. ภูมิภาคแม้ใดในกาลก่อน เป็นอารามและเป็นวิหาร, ภายหลัง
ร้างไป ตั้งอยู่เป็นเพียงภูมิภาค ไม่สำเร็จกิจแห่งอารามและวิหาร ภูมิภาคแม้
นั้นก็สงเคราะห์ โดยการรวมเข้าในอารามวัตถุและวิหารวัตถุเหมือนกัน. ส่วน
วินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนและพื้นที่วิหารนี้ เป็นเช่นกับที่กล่าวแล้ว
ในนานั่นเอง ฉะนี้แล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่
คำที่ควรจะกล่าวในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในบ้าน ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว
ทั้งนั้น.