เมนู

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวน


พึงทราบวินิจฉัยแม้ในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวนต่อไป :- พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสวนก่อน จึงตรัสว่า สวนดอกไม้ สวนผลไม้ ชื่อว่า
สวน ดังนี้. บรรดาสวนเหล่านั้น สวนเป็นที่บานแห่งดอกไม้ทั้งหลาย มีดอก
มะลิเป็นต้น ชื่อว่า สวนดอกไม้. สวนเป็นที่เผล็ดแห่งผลไม้ทั้งหลาย มีผล
มะม่วงเป็นต้น ชื่อว่า สวนผลไม้. วินิจฉัยภัณฑะที่เขาเก็บไว้แม้ในสวน
โดยฐาน 4 มีนัยดังกล่าวแล้ว ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นเป็นต้นนั่นแล.
ส่วนวินิจฉัยในของซึ่งเกิดในสวนนั้น พึงทราบดังนี้ :- รากไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง
มีแฝกและตะไคร้เป็นต้น ชื่อว่า เหง้า. เมื่อภิกษุถอนรากนั้นถือเอาก็ดี ถือเอา
ที่เขาถอนไว้แล้วก็ดี วัตถุแห่งปาราชิกจะเต็มด้วยรากใด, ครั้นเมื่อรากนั้น
อันเธอถือเอาแล้ว เป็นปาราชิก. แม้เหง้ามัน ก็สงเคราะห์เข้าด้วยรากเหมือน
กัน. ก็เมื่อภิกษุถอนเหง้าขึ้น เป็นถุลลัจจัยทีเดียว ในเมื่อเหง้านั่นยังไม่ขาด
แม้มีประมาณเล็กน้อย. คำที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเหง้าบัว
นั่นแล.
บทว่า ตจํ ได้แก่ เปลือกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่พอจะใช้ประกอบ
เพื่อเป็นเครื่องยา หรือเพื่อเป็นเครื่องย้อม. เมื่อภิกษุถากถือเอาเปลือกไม้นั้น
หรือถือเอาเปลือกไม้ที่เขาถากไว้แล้ว เป็นปาราชิก โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วใน
รากไม้นั่นแล.
บทว่า ปุปฺผํ ได้แก่ ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีดอกมะลิเครือและ
มะลิซ้อนเป็นต้น. เมื่อภิกษุเก็บเอาดอกไม้นั้น หรือถือเอาดอกไม้ที่เขาเก็บไว้
แล้ว เป็นปาราชิก โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในดอกอุบลและดอกปทุมนั่นแล.
จริงอยู่ แม้ดอกไม้ทั้งหลาย มีขั้วหรือมีที่ต่อยังไม่ขาด ก็ยังรักษาอยู่. แต่
สำหรับดอกไม้บางเหล่า มีไส้อยู่ภายในขั้ว, ไส้นั้นรักษาไม่ได้.

บทว่า ผลํ ได้แก่ ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีผลมะม่วงและผลตาล
เป็นต้น. วินิจฉัยสำหรับภิกษุผู้ถือเอาผลไม้นั้นจากต้นไม้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้
แล้วในกถาว่าด้วยภัณฑะที่คล้องไว้บนต้นไม้. ผลไม้ที่เขาเก็บวางไว้ สงเคราะห์
เข้าด้วยภัณฑะที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นเป็นต้นนั่นแล.
สองบทว่า อารามํ อภิยุญฺชติ ความว่า ภิกษุกล่าวเท็จตู่เอาสวน
ซึ่งเป็นของคนอื่นว่า นี้เป็นสวนของข้าพเจ้า ดังนี้ เป็นทุกกฏ เพราะเป็น
ประโยคแห่งอทินนาทาน.
หลายบทว่า สามิกสฺส วิมตึ อุปฺปาเทติ มีความว่า ภิกษุยังความ
สงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวน เพราะความเป็นผู้ฉลากในการวินิจฉัย หรือ
เพราะอาศัยคนที่มีกำลังเป็นต้น. คืออย่างไร ? คือตามความจริง เจ้าของเห็น
ภิกษุนั้น ซึ่งเป็นผู้ขวนขวายในการวินิจฉัยอยู่อย่างนั้น จึงคิดว่า เราจักอาจทำ
สวนนี้ให้กลับคืนเป็นของเรา หรือไม่หนอ ? ความสงสัย เมื่อเกิดขึ้นแก่
เจ้าของนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นอันภิกษุนั้นให้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยอาการดังกล่าวมานี้
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น ย่อมต้องถุลลัจจัย.
สองบทว่า ธุรํ นิกฺขิปติ มีความว่า ก็เมื่อใด เจ้าของทอดธุระเสีย
ด้วยคิดว่า ภิกษุนี้ หยาบช้าทารุณ พึงทำแม้ซึ่งอันตรายแก่ชีวิตและพรหม-
จรรย์ของเรา, บัดนี้ เราไม่ต้องการสวนนี้ละ, เมื่อนั้น ภิกษุผู้ตู่ ย่อมต้อง
ปาราชิก หากแม้ตนจะเป็นผู้ทำการ*ทอดธุระเสียเองก็ตาม. แต่ถ้าเจ้าของทอด
ธุระแล้วก็ตาม ภิกษุผู้ตู่ ไม่ทอดธุระ ยังความอุตสาหะในอันจะพึงให้คืน
ทีเดียว ด้วยคิดว่า เราจักบีบเจ้าของสวนนี้ให้หนักแล้วแสดงความแผ่อำนาจ
ของเรา ตั้งเจ้าของสวนคนนั้นไว้ในความเป็นผู้รับใช้ แล้วจึงจักให้คืน ดังนี้,
ยังรักษาอยู่ก่อน. ถ้าแม้ภิกษุผู้ตู่ ครั้นแย่งชิงเอาแล้ว ก็ทอดธุระเสีย ด้วย
//* โยชนาปาฐะ 1/324 ว่า อกโต ธุรนิกฺเขโป เอเตนาติ อกตธุรนิกฺเขโป.

คิดว่า บัดนี้ เราจักไม่คืนสวนนั้นให้แก่เจ้าของคนนี้ ฝ่ายเจ้าของก็ไม่ทอดธุระ
เสีย ยังเที่ยวแสวงหาพรรคพวก ทั้งรอคอยเวลาอยู่ ด้วยคิดว่า เราได้ลัชชี
บริษัทเสียก่อน ภายหลังจึงจักรู้ ดังนี้ ยังเป็นผู้มีความอุตสาหะในการรับคืน
ทีเดียว, ก็ยังรักษาอยู่นั่นเทียว. แต่เมื่อใด แม้ภิกษุผู้ตู่นั้นทอดธุระเสีย ด้วย
คิดว่า เราจักไม่คืนให้ ทั้งเจ้าของก็ทอดธุระเสียด้วยคิดว่า เราจักไม่ได้คืน
ทั้งสองฝ่ายทอดธุระเสียดังกล่าวมานี้ ; เมื่อนั้น ภิกษุผู้ตู่ เป็นปาราชิก. แต่
ถ้าภิกษุครั้นตู่แล้ว ก็ทำการวินิจฉัยความเสียเอง เมื่อวินิจฉัยยังไม่เสร็จ ทั้ง
เจ้าของก็มิได้ทอดธุระ รู้อยู่ทีเดียวว่า ตนมิใช่เป็นเจ้าของเลย ได้ถือเอาดอกไม้
หรือผลไม้บางอย่างจากสวนนั้น พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ.
บทว่า ธมฺมญฺจรนฺโต ได้แก่ ภิกษุผู้ตู่ ทำการตัดสินความในหมู่
ภิกษุ หรือในราชตระกูล.
สองบทว่า สามิกํ ปราเชติ ความว่า ภิกษุผู้ตู่นั้น ให้ของกำนัล
แก่พวกผู้พิพากษา แล้วอ้างพยานโกง ย่อมชนะเจ้าของสวน.
สองบทว่า อาปตฺติ ปาราชิกสฺส ความว่า มิใช่จะเป็นปาราชิก
เฉพาะภิกษุผู้ประกอบคดีนั้นอย่างเดียวก็หามิได้ พวกภิกษุผู้พิพากษาโกงก็ดี
ผู้เป็นพยานโกงก็ดี ผู้แกล้งดำเนินคดีในการให้สำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุผู้ฟ้อง-
ร้องนั้น ก็เป็นปาราชิกทั้งหมด. ก็ในคำว่า ธมฺมญฺจรนฺโต นี้ พึงทราบความ
ปราชัย ด้วยอำนาจเจ้าของทอดธุระเท่านั้น. จริงอยู่ เจ้าของยังไม่ทอดธุระ
จัดว่ายังไม่แพ้ทีเดียว.
หลายบทว่า ธมฺมญฺจรนฺโต ปรชฺชติ ความว่า แม้ถ้าตนเองถึง
ความปราชัย เพราะคำพิพากษาที่เป็นไปโดยธรรมโดยวินัย โดยสัตถุศาสน์.
แม้ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุผู้ตู่นั้น ยังต้องถุลลัจจัย เพราะทำการบีบคั้น
เจ้าของด้วยการกล่าวเท็จเป็นปัจจัย ฉะนี้แล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวน

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในวิหาร


พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์แม้ที่ตั้งอยู่ในวิหารต่อไป :- ทรัพย์ที่เก็บไว้
โดยฐาน 4 มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ก็วินิจฉัยแม้ในการตู่เอาทรัพย์ที่ตั้งอยู่
ในวิหารนี้ พึงทราบดังนี้ :- เมื่อภิกษุตู่เอาวิหารก็ดี บริเวณก็ดี อาวาสก็ดี
ทั้งใหญ่ ทั้งเล็ก ซึ่งเขาถวายพวกภิกษุอุทิศสงฆ์ มาจากทิศทั้ง 4 ตู่ไม่ขึ้น,
ทั้งไม่อาจเพื่อจะแย่งชิงเอาได้. เพราะเหตุไร ? เพราะไม่มีการทอดธุระแห่ง
ภิกษุทั้งปวง. จริงอยู่ ภิกษุทั้งหมดผู้อยู่ในทิศทั้ง 4 จะทำการทอดธุระใน
วิหารเป็นต้นที่เป็นของสงฆ์นี้ไม่ได้แล. แต่ภิกษุผู้ตู่ถือเอาสิ่งของ ๆ คณะ อัน
ต่างด้วยคณะผู้กล่าวทีฆนิกายเป็นต้น หรือของบุคคลบางคน ย่อมอาจทำคณะ
และบุคคลบางคนนั้น พึงทราบวินิจฉัย โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในสวน
นั้นแล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในวิหาร