เมนู

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ


พึงทราบวินิจฉัยในของที่อยู่ในอากาศ. สำหรับนกยูง พึงทราบการ
กำหนดฐานโดยอาการ 6 อย่าง คือ ข้างหน้ากำหนดด้วยจะงอยปาก ข้างหลัง
กำหนดด้วยปลายลำแพนหาง ข้างทั้ง 2 กำหนดด้วยปลายปีก เบื้องต่ำกำหนด
ด้วยปลายเล็บเท้า เบื้องบนกำหนดด้วยปลายหงอน. ภิกษุคิดว่า จักจับนกยูง
ซึ่งมีเจ้าของ อัน (บิน) อยู่ในอากาศ ยืนอยู่ข้างหน้า หรือเหยียดมือออก.
นกยูงกางปีกอยู่ในอากาศนั่นแหละ กระพือปีกแล้วหยุดบินยืนอยู่ เป็นทุกกฏ
แก่ภิกษุนั้น, ไม่ให้นกยูงนั้นไหว เอามือลูบคลำ เป็นทุกกฎเหมือนกัน,
ไม่ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ไหวอยู่ เป็นถุลลัจจัย. ส่วนจะเอามือจับหรือไม่จับ
ก็ตาม ให้ปลายลำแพนหางล่วงเลยโอกาสที่จะงอยปากถูก หรือให้จะงอยปาก
ล่วงเลยโอกาสที่ปลายลำแพนหางถูก, ถ้านกยูงนั้น ได้ราคาบาทหนึ่งไซร้,
เป็นปาราชิก. อนึ่ง ให้ปลายปีกข้างขวา ล่วงเลยโอกาสที่ปลายปีกข้างซ้ายถูก
หรือให้ปลายปีกข้างซ้าย ล่วงเลยโอกาสที่ปลายปีกข้างขวาถูก ก็เป็นปาราชิก.
อนึ่ง ให้ปลายหงอน ล่วงเลยโอกาสที่ปลายเล็บเท้าถูก หรือให้ปลายเล็บเท้า
ล่วงเลยโอกาสที่ปลายหงอนถูก ก็เป็นปาราชิก. นกยูงบินไปทางอากาศ จับที่
บรรดาอวัยวะมีศีรษะเป็นต้น อันใด, อวัยวะอันนั้น เป็นฐานของนกยูงนั้น.
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นแม้เมื่อทำนกยูงตัวนั้น ซึ่งเกาะอยู่ที่มือให้ส่ายไปข้าง
โน้นและข้างนี้ ชื่อว่าทำให้ไหวแท้. และถ้าเธอเอามืออีกข้างหนึ่งจับให้เคลื่อน
จากฐาน เป็นปาราชิก. ภิกษุยื่นมืออีกข้างหนึ่งเข้าไปใกล้, นกยูงโดดไปเกาะ
ที่มือนั้นเสียเอง ไม่เป็นอาบัติ. ภิกษุมีไถยจิต รู้ว่านกยูงจับที่อวัยวะ ย่างเท้า
ก้าวแรก เป็นถุลลัจจัย, ก้าวที่สอง เป็นปาราชิก. นกยูงจับอยู่บนพื้นดิน

ย่อมได้ฐาน 3 ด้วยอำนาจเท้าทั้งสอง และลำแพนหาง. เมื่อภิกษุยกนกยูงนั้น
ขึ้น เป็นถุลลัจจัย ตลอดเวลาที่ฐานแม้เพียงฐานเดียวยังถูกแผ่นดิน. เมื่อนกยูง
นั้นสักว่าอันภิกษุให้พ้นจากแผ่นดินแม้เพียงปลายเส้นผมก็เป็นปาราชิก. ภิกษุ
ยกนกยูงซึ่งอยู่ในกรงขึ้นพร้อมทั้งกรง ต้องปาราชิก. แต่ถ้านกยูงตัวนั้น ไม่ได้
ราคาถึงบาทไซร้, พึงปรับตามราคาทุก ๆ แห่ง. ภิกษุมีไถยจิต ทำนกยูงตัว
ซึ่งเที่ยวอยู่ภายในสวนให้ตกใจ ไล่มันเดินออกไปนอกสวนด้วยเท้าเทียว ให้
ล่วงเลยเขตที่กำหนดแห่งประตู ต้องปาราชิก. จริงอยู่ ภายในสวน เป็นฐาน
ของนกยูงนั้น เหมือนคอกเป็นฐานของโคที่อยู่ในคอก ฉะนั้น. แต่เมื่อภิกษุ
เอามือจับทำให้มันบินไปในอากาศ แม้ภายในสวน ก็ต้องปาราชิกเหมือนกัน.
เมื่อภิกษุยังนกยูงแม้เที่ยวอยู่ภายในบ้านให้ล่วงเลยเครื่องล้อมแห่งบ้านไป ต้อง
ปาราชิก. นกยูงตัวที่ออกไปเที่ยวอยู่ในอุปจารบ้านหรืออุปจารสวนเองทีเดียว
และภิกษุมีไถยจิต ยังมันให้ตกใจด้วยไม้หรือด้วยกระเบื้อง ทำให้มันบ่ายหน้า
เข้าดง. นกยูงบินไปเกาะอยู่ภายในบ้าน หรือภายในสวน หรือบนหลังคา,
ยังรักษาอยู่. แต่ถ้ามันบ่ายหน้าเข้าดงบินไปก็ดี เดินไปก็ดี, เมื่อไม่มีความหมาย
ใจว่า เราให้มันเข้าดงไปแล้ว จักจับเอา ต้องปาราชิก ในเมื่อสักว่า มันบิน
ขึ้นพ้นแผ่นดินแม้เพียงปลายเส้นผม หรือในย่างเท้าที่สอง. เพราะเหตุไร ?
เพราะเหตุว่า ที่ซึ่งยืนเท่านั้น เป็นฐานของมันซึ่งออกจากบ้านแล้ว. แม้ใน
นกทั้งหลายมีนกคับแคเป็นต้น ก็พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้แล.
บทว่า สาฏกํ วา มีความว่า ภิกษุเอามือจับ ผ้าสาฎกที่แข็งด้วย
แป้ง ซึ่งปลิวไปในอากาศ ลอยมาตรงหน้า ที่ชายผ้าข้างหนึ่งเหมือนผ้าที่เขา
ขึงลาดไว้บนพื้นแผ่นดินถูกลมกระพือพัด ฉะนั้น, เมื่อไม่ได้ทำฐานให้ไหวไป
ข้างโน้นและข้างนี้เลย ต้องทุกกฏ เพราะงดการเดิน, เมื่อไม่ทำให้เคลื่อนจาก
ฐานรักษาอยู่, เป็นถุลลัจจัย เพราะทำให้ไหว, ให้เคลื่อนจากฐาน ต้อง

ปาราชิก. ก็การกำหนดฐานแห่งผ้าสาฎกนั้น พึงทราบด้วยอาการ 6 อย่าง
เหมือนการกำหนดฐานแห่งนกยูง ฉะนั้น. ส่วนผ้าสาฎกที่ไม่แข็ง พอภิกษุจับ
ที่ชายผ้าข้างหนึ่งเท่านั้น ก็ตกลงไปกองอยู่บนพื้นดินทั้งชายที่สอง, ผ้าสาฎก
นั้นมีฐาน 2 คือ มือ 1 พื้นดิน 1. ภิกษุทำผ้าสาฎกนั้น ตามที่จับเอาแล้วนั่น
แล ให้เคลื่อนไปจากประเทศแห่งโอกาสที่ตนจับเอาครั้งแรก ต้องถุลลัจจัย
ภายหลัง เอามือที่สอง หรือเท้ายกขึ้นจากพื้นดิน ต้องปาราชิก. อนึ่ง ครั้งแรก
ยกขึ้นจากพื้นดิน ต้องถุลลัจจัย, ภายหลังให้เคลื่อนจากประเทศแห่งโอกาสที่
ตนจับเอา ต้องปาราชิก. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเมื่อไม่ปล่อยการจับ ยื่นมือลง
ไปตรง ๆ ป้องผ้าให้อยู่ที่พื้นดิน จึงเอามือนั้นนั่นเองยกผ้าขึ้น ต้องปาราชิก.
แม้ในผ้าโพก ก็พึงทราบวินิจฉัยดังนี้แหละ.
หลายบทว่า หิรญฺญํ วา สุวณฺณํ วา ฉิชฺชมานํ มีความว่า
เครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้น ของพวกมนุษย์ผู้ตกแต่งอยู่ก็ดี แท่งทองของ
พวกช่างทองผู้ตัดซี่ทองอยู่ก็ดี ขาดตกไป. ถ้าภิกษุมีไถยจิตเอามือจับเอาเครื่อง
ประดับ หรือแท่งทองที่ขาดตกลอยมาทางอากาศนั้น, การจับเอานั่นแหละ
เป็นฐาน, เอามือออกจากประเทศที่ตนจับเอาต้องปาราชิก. เอามือยกเครื่อง
ประดับมีสร้อยคอเป็นต้นที่ตกลงไปในจีวรขึ้น ต้องปาราชิก, ไม่ได้ยกขึ้นเลย
แต่เดินไป ต้องปาราชิกในย่างเท้าที่สอง. ถึงในเครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้น
ที่ตกลงไปในบาตร ก็มีนัยอย่างนี้แล. เอามือจับเครื่องประดับมีสร้อยคอ
เป็นต้น ที่ตกลงที่ศีรษะ ที่หน้า หรือที่เท้า ต้องปาราชิก, ไม่ได้จับเอาเลย
แต่เดินไป ต้องปาราชิกในย่างเท้าที่สอง. อนึ่ง เครื่องประดับมีสร้อยคอ
เป็นต้นนั้นตกไปในที่ใด ๆ, เฉพาะโอกาสที่เครื่องประดับเป็นต้นตั้งอยู่ในที่
นั้น ๆ เป็นฐานของเครื่องประดับเป็นต้นนั้น, อังคาพยพทั้งหมดก็ดี บาตร
และจีวรก็ดี หาได้เป็นฐานไม่ ฉะนี้แล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในกลางแจ้ง


พึงทราบวินิจฉัยในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในกลางแจ้ง. ภัณฑะที่เขาวางไว้บน
เตียงและตั่งเป็นต้น จะเป็นของควรจับต้องหรือไม่ควรจับต้องก็ตาม เมื่อภิกษุ
จับต้องด้วยไถยจิต เป็นทุกกฎ. ก็แลในภัณฑะที่เขาวางไว้บนเตียงและตั่งนี้
ควรทราบวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวไว้ในภัณฑะที่ตั้งอยู่บนบก. ส่วนความแปลกกัน
พึงทราบดังนี้ :-
ถ้าผ้าสาฎกที่แข็งด้วยแป้ง ซึ่งเขาขึงไว้ที่เตียงหรือตั่ง ตรงกลางไม่ถูก
พื้นเตียง ถูกแต่เท้าเตียงเท่านั้น, พึงทราบฐานด้วยอำนาจแห่งเท้าทั้ง 4 ของ
เตียงนั้น. จริงอยู่ เมื่อผ้าสาฎกนั้น สักว่าอันภิกษุให้ล่วงเลยโอกาสที่ถูก
เบื้องบน แห่งเท้าเตียงเท่านั้น ย่อมเป็นปาราชิก ในเพราะเหตุให้ก้าวล่วงนั้น.
แต่เมื่อภิกษุลักไปพร้อมทั้งเตียงและตั่ง พึงทราบฐาน ด้วยอำนาจโอกาสที่
เท้าเตียงและตั่งตั้งจดอยู่.
บทว่า จีวรวํเส วา มีความว่า บนราวหรือบนขอไม้ที่เขาผูกตั้งไว้
เพื่อประโยชน์แก่การพาดจีวร. เฉพาะโอกาสที่ถูกกับโอกาสที่ตั้งอยู่ เป็นฐาน
ของจีวรที่พาดไว้บนราวนั้น ซึ่งเอาชายไว้ข้างนอก เอาขนดไว้ข้างใน, ราว
จีวรทั้งหมด หาได้เป็นฐานไม่. เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุจับจีวรนั้นที่ขนด
ดึงมาด้วยไถยจิต ให้โอกาสที่ตั้งอยู่บนราวด้านนอก ล่วงเลยประเทศที่ราวจีวร
ถูกด้านในไป เป็นปาราชิก ด้วยการดึงมาเพียงนิ้วเดียวหรือสองนิ้วเท่านั้น.
นัยแม้แห่งภิกษุผู้จับที่ชายดึงมา ก็เหมือนกันนี้. แต่เมื่อภิกษุรูดลงข้างซ้าย
หรือข้างขวาบนราวจีวรนั้นนั่นเอง ครั้นเมื่อจีวรนั้นสักว่าล่วงเลยฐานแห่งชาย
ข้างขวาด้วยชายข้างซ้าย หรือสักว่าล่วงเลยฐานแห่งชายข้างซ้ายด้วยชายข้างขวา