เมนู

บทว่า เอวรูเป คือมีส่วนอย่างนี้ ได้แก่ มีชาติอย่างนี้.
บทว่า ธุตคุเณ ได้แก่ คุณอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลส.
สองบทว่า สมาทาย วตฺตติ ความว่า (ท่านสุทินน์นั้น) สมาทาน
คือรับเอา ประพฤติ เที่ยวไป อยู่.
สองบทว่า อารญฺญิโก โหติ ความว่า ห้ามเสนาสนะแดนบ้าน
เสียแล้ว เป็นผู้ชอบอยู่ป่าเป็นวัตร ด้วยอำนาจสมาทานอารัญญิกธุดงค์.
บทว่า ปิณฺฑปาติโก ความว่า ห้ามภัต 14 อย่าง ด้วยการห้าม
อติเรกลาภเสียแล้ว เป็นผู้ชอบเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ด้วยอำนาจสมาทาน
บิณฑปาติยธุดงค์.
บทว่า ปํสุกูลิโก ความว่า ห้ามคฤหบดีจีวรเสียแล้ว เป็นผู้ชอบ
ทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตร ด้วยอำนาจสมาทานปังสุกูลิกธุดงค์.
บทว่า สปทานจาริโก ความว่า ห้ามการเที่ยวโลเลเสียแล้ว เป็น
ผู้ชอบเที่ยวตามลำดับตรอกเป็นวัตร คือเข้าไปเพื่อภิกษาตามลำดับเรือน ด้วย
อำนาจสมาทานสปทานจาริยธุดงค์.
บทว่า วชฺชิคามํ ความว่า (ท่านสุทินน์นั้นเข้าอาศัย) หมู่บ้านชาว
วัชชีหรือหมู่บ้านในแคว้นวัชชี.

[ญาติของท่านสุทินน์ที่เมืองไพศาลีมีสมบัติมาก]


ในคำเป็นต้นว่า อฑฺฒา มหทฺธนา มีวินิจฉัยดังนี้:- (ญาติทั้งหลาย
ของเราในเมืองไพศาลี) ชื่อว่าเป็นผู้มั่งคั่ง เพราะมีเครื่องอุปโภคและอุปกรณ์
แห่งเครื่องบริโภคมาก. มีคำอธิบายว่า จริงอยู่ เครื่องอุปโภค และอุปกรณ์
แห่งเครื่องอุปโภค ของญาติเหล่านั้น ๆ มีมาก คือมีหนาแน่น ทั้งเป็นวัตถุ
มีสาระ.

ชื่อว่า ผู้มีทรัพย์มาก เพราะมีทรัพย์ที่ฝังไว้มาก.
บทว่า มหาโภโค ชื่อว่าผู้มีโภคะมาก เพราะมีโภคะคือวัตถุที่เป็น
เสบียง (สำหรับจ่าย) ประจำมาก.
ชื่อว่า ผู้มีทองและเงินมาก เพราะนอกจากเครื่องอุปโภคอย่างอื่น
ก็ยังมีทองและเงินนั่นแหละมากมาย.
ชื่อว่า ผู้มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจมาก เพราะอุปกรณ์แห่ง
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันเป็นเครื่องประดับ ซึ่งทำความปีติปราโมทย์ให้ มี
มากมาย. พึงทราบว่า เป็นผู้มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เพราะทรัพย์และ
ข้าวเปลือกอันแลกเปลี่ยนกันด้วยอำนาจการซื้อขาย มีจำนวนมาก.
สองบทว่า เสนาสนํ สํสาเมตฺวา ความว่า เก็บงำเสนาสนะแล้ว
อธิบายว่า จัดตั้งเสนาสนะนั้นไว้อย่างเรียบร้อย โดยประการที่เสนาสนะจักไม่
เสียหาย.

[ญาตินำภัตตาหารไปถวายท่านสุทินน์ 60 ถาด]


สองบทว่า สฏฺฐิมตฺเต ถาลิปาเก ความว่า (ญาติทั้งหลายของ
ท่านสุทินน์นำภัตตาหารไปถวายท่านสุทินน์) มีประมาณ 60 หม้อ โดยกำหนด
แห่งการคำนวณ.
ก็บรรดาภัต 60 หม้อนี้ เฉพาะหม้อหนึ่ง ๆ จุภัตพอแก่ภิกษุ 10 รูป
ภัตแม้ทั้งหมดนั้น ภิกษุ 600 รูปพอฉัน.
ในสองบทว่า ภตฺตาภิหารํ อภิสรึสุ นี้ มีวิเคราะห์ดังนี้:- อาหาร
ที่ชื่อว่า อภิหาร เพราะอรรถว่า อันบุคคลนำไปเฉพาะ. นำอะไรไป?
นำภัตไป. อภิหาร คือภัตนั่นเอง ชื่อภัตตาภิหาร. ซึ่งภัตตาภิหารนั้น.